ว่าด้วยเรื่องความรู้สึกคับแค้นใจ ความคับแค้นใจเกิดขึ้นได้ทั้งในมุมเจ้าของธุรกิจที่มีความคับแค้นใจต่อลูกน้อง หรือในมุมของลูกน้องที่มีความคับแค้นใจต่อหัวหน้า
เช่นเจ้าของธุรกิจที่มีลูกน้องปิดการขายเก่งมาก แต่จะโทรมาขอเพิ่ม Commission ทุกครั้งที่จะปิดการขายได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่ยอมปิดการขาย
หรือลูกน้องที่หายใจเข้าออกมีแต่บริษัท ทุ่มเททุกอย่างที่เชื่อว่าองค์กรต้องการ แต่หัวหน้าดัน Promote เพื่อนร่วมงานคนที่มักจะมาถามเรื่องงานกับเราเป็นประจำ
จะเห็นว่าความรู้สึกไม่ยุติธรรม คือที่มาของความคับแค้นใจ
คุณ Daniel เคยกล่าวไว้ในเวิร์กชอป Internal Leadership ว่าความคับแค้นใจนั้นน่ากลัวเพราะมันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น คนที่รู้สึกก็จะไม่กล้าบอกเล่าหรือแสดงออกถึงมัน เนื่องจากกังวลว่าจะถูกมองเป็นคนขี้อิจฉา คิดเล็กคิดน้อย จึงถูกความรู้สึกนี้ค่อยๆกัดกร่อนทีละนิด ซึ่งสุดท้ายมันมักจะสายเกินแก้ แตกต่างจากปัญหาอื่นๆในองค์กรที่จะถูกมองเห็นชัดเจนและผู้นำก็จัดการได้ทันท่วงที การที่หัวหน้าฟันธงไปเองคิดว่าไม่มีอะไรหรอก ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากๆ
วิธีป้องกันและจัดการกับความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นในชีวิตทำงานและความสัมพันธ์มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทั้งนี้ 1 ในทางออกจากความคับแค้นใจที่เราสามารถทำได้ในทุกๆสถานการณ์คือการพาตัวเองไปสู่จุดที่มีตัวเลือก
เช่นจากตัวอย่างข้างต้น เจ้าของธุรกิจควรส่งเสริมการพัฒนาทีมขายเพื่อให้นักขายแต่ละคนมีศักยภาพมากขึ้น ยอดขายของบริษัทจะได้ไม่ขึ้นอยู่กับนักขายที่ขายเก่งอยู่เพียงคนเดียว
ในมุมของลูกน้อง ควรลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ยื่นใบสมัครกับองค์กรอื่นๆดูบ้าง บางทีความคุ้นชินกับองค์กรที่อยู่มานานอาจทำให้เรารู้สึกไม่มีที่ที่เหมาะสมกับเรามากกว่านี้ ซึ่งมันไม่จริงเสมอไป
เพราะการมีทางเลือกจะทำให้เราไม่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกถูกบีบบังคับให้ยอมรับ จนก่อให้เกิดความคับแค้นใจ