โลกธุรกิจยุคปัจจุบัน หันไปทางไหนก็มีกระแสการสร้างแบรนด์เต็มไปหมด เพราะเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ยังถือว่ามีเจ้าธุรกิจส่วนน้อย ที่เข้าใจว่าหัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์คือ
การตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า
เราจะต้องเจาะจงในความคาดหวังของลูกค้า ด้วยการสื่อสารความเจาะจงนั้นอย่างสม่ำเสมอ อย่างเป็นระบบ
ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ชั่วข้ามคืน เราต้องรู้ว่าใครคือลูกค้าของเรา เขาคาดหวังถึงอะไร และในอีกมิติหนึ่ง การที่เราจะทำอย่างนั้นได้ มันมีเรื่องของการบริหารสายป่านเข้ามาร่วมด้วย แตกต่างจากการสร้างยอดขายที่มุ่งเน้นแต่การสร้างยอดเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ SME หลายท่านที่มีงบประมาณจำกัดมีข้อกังวลเรื่องความพร้อมในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง
สำหรับบทความในวันนี้ เราจะมาหาคำตอบผ่านคู่สายตาของ 2 ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ “พี่บี๊” หรือคุณ Nukul Lukkananukul ที่ปรึกษาเปลี่ยนธุรกิจติดลบให้เป็นล้าน จากการรู้จักตัวเอง
และ “คุณเจมส์” หรือคุณ Theeranon Sirikulpiriya ที่ปรึกษาด้าน Digital Business & Marketing
ทั้ง 2 ท่านมีประสบการณ์การทำงานเพื่อช่วยเหลือ SME ด้วยกันมานาน
พี่บี๊: สำหรับพี่บี๊จะแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 หมวดหมู่นะครับ ได้แก่
1. ผู้ผลิต
2. ซื้อมาขายไป
3. การบริการ
ที่นี้ปัญหาคือ SME ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าธุรกิจของตนตกอยู่ในหมวดหมู่ไหนและเขาเลือกทำมันทั้งหมดเลย และนั่นทำให้ใช้งบประมาณที่บานปลายมาก
คุณเจมส์: ขอเสริมพี่บี๊ด้วยครับว่า SME บางท่านนอกจากจะยังไม่ชัดเจนในเรื่องหมวดหมู่ของธุรกิจตัวเองแล้ว อาจจะยังไม่รู้ด้วยว่าลูกค้าของตัวเองคือใคร ซึ่งส่งผลให้ใช้งบการตลาดในการสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสะเปะสะปะที่ทำให้เงินรั่วไหลเข้าไปอีก
เมย์: คุณเจมส์มีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับคำตอบสุดคลาสสิกว่า “ใครคือลูกค้าของเรา” ไหมคะ ?
คุณเจมส์: ถ้ายังไม่ได้เริ่มธุรกิจ ผมแนะนำให้ลองสังเกตเพื่อน ๆ คนรอบตัวดู ว่าเขามักจะมาขอคำแนะนำอะไรจากเรา เรามีอะไรที่เขามองหา มันหยิบจับขึ้นมาเพื่อขายกลุ่มคนที่มีความต้องการคล้าย ๆ กันนี้ได้ไหม
แต่ถ้าเปิดมาสักพักหนึ่ง เริ่มมีลูกค้าแล้ว ผมแนะนำให้ลองโทรหาลูกค้าครับ ว่าทำไมเขาถึงมาใช้บริการกับเรา เราจะได้คำตอบ รู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้คือใคร และเขามองหาอะไรในการใช้บริการกับแบรนด์หรือธุรกิจนั้น ๆ
เมย์: คุณเจมส์จะสื่อว่า ถ้าเราสามารถอุดเงินที่รั่วไหลไปกับการทำ Marketing ที่ไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังของกลุ่มลูกค้าของเราได้ และนำงบนี้ไปใช้ในการทำในสิ่งที่พวกเขามองหาจริง ๆ และสื่อสารในสิ่งนั้นให้ได้อย่างต่อเนื่อง ความเป็นแบรนด์จะเริ่มชัดขึ้น ถูกต้องไหมคะ
คุณเจมส์: ใช่ครับ และขอด้วยเสริมว่า ตัว SME จะต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ยึดติดเทรนด์ต่าง ๆ แต่ดูกลุ่มลูกค้าของตัวเองเป็นหลัก
พี่บี๊: พอเราชัดเจนทั้งกลุ่มลูกค้า และหมวดหมู่ธุรกิจแล้ว ในมุมของการจับจ่ายเพื่อการเติบโตของธุรกิจ ถ้าเราอ่านงบการเงินเป็น เราจะเห็นภาพชัดขึ้นไปอีกว่า
- สินค้าตัวไหนกำไรดี ตัวไหนกำไรน้อย แล้วเลือกไปทำการตลาด
- สินค้า SKU ไหนเหลือเยอะ ควรระบาย
- เจอค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือที่ “เคยจำเป็น” แต่วันนี้ไม่จำเป็นแล้ว
“เราเองก็ทำธุรกิจมาก็มองข้ามไปเหมือนกัน แค่ได้ยินคำว่างบการเงิน ก็รู้สึกหัวจะปวด แต่ถ้ารู้ว่ามันไม่ใช่แค่ตัวเลข มันคือแผนที่ธุรกิจ ก็น่าสนใจ เหมือนมีแผนที่อยู่กับมือ แต่ไม่คิดจะอ่านมัน”
ความคิดเห็นจากคุณ Chattaya Weanwirun เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าสตรีสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน และเป็นอีก 1 ในผู้ร่วมเวิร์กชอปของ AntiClassroom ที่ติดตามกันมานาน
เมย์เองก็เห็นด้วยกับคุณ Chattaya ว่าที่จริงแล้ว งบการเงินคือ Data ประเภทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ Data อื่น ๆ และหากมีความเข้าใจเรื่องภาษีไปด้วย จะทำให้สามารถบริหารภาษีได้ดีขึ้น จ่ายภาษีเท่าที่ควรจ่าย ไม่จ่ายเกินควร
สุดท้ายนี้เมย์ขอขอบพระคุณพี่บี๊ คุณเจมส์ สำหรับ Solution ดี ๆ ในวันนี้ เชื่อว่าหากเจ้าของธุรกิจนำความรู้ด้าน Financial มาใช้ควบคู่กับการทำ Marketing เราจะสามารถตอบตัวเองได้ว่า ด้วยความพร้อมของเราในขณะนี้ เราควรลงทุนเพื่อสร้างยอด หรือสร้างแบรนด์ สำหรับท่านไหนที่สามารถทำได้ควบคู่กันได้ ก็ถือว่าอยู่บนเส้นทางที่เป็นอุดมคติมากจริง ๆ ขอเอาใจช่วยทุกท่านนะคะ 😊